ข่าวเศรษฐกิจ

ธปท.พร้อมรองรับระบบการเงินดิจิทัลหลังโควิด–19 ทำคนใช้พร้อมเพย์พุ่ง 55.1 บัญชี ยอดใช้สูงสุด 20 ล้านรายการต่อวัน 



    ธปท.เตรียมเดินหน้า 5 ด้าน ใช้ ISO 20022 ในการรับส่งข้อมูล เปิดตัวเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสู่ภาคธุรกิจ สร้างรอยเท้าดิจิทัลดิจิทัลไอดี แสดงตัวตน และพฤติกรรมรายบุคคล รวมถึงการปล่อยกู้ออนไลน์ ช่วยให้คนไทยธุรกิจไทยลดต้นทุน และก้าวเข้าสู่วิถีใหม่ได้เร็วขึ้น

   นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการเปิดงาน Bangkok FinTech Fair 2020 พร้อมรับวิถีใหม่ SME ก้าวต่อไปด้วยดิจิทัลว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ (New normal) หลังโควิด-19 ได้เร่งพัฒนาการของระบบการเงินดิจิทัลของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากการใช้บริการระบบโอนเงินพร้อมเพย์ที่วันนี้มีจำนวนผู้มีบัญชีเงินฝากที่ผูกกับระบบพร้อมเพย์แล้ว 55.1 ล้านราย และมีรายการธุรกรรมที่ใช้บริการต่อวันสูงสุด 20 ล้านรายการต่อวัน ขณะที่มีร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ดแล้วกว่า 6 ล้านราย และเราเริ่มเห็นการเบิกเงินจากสาขาธนาคารตู้เอทีเอ็มและการใช้เช็คลดลงมาก โดยธุรกิจจำนวนมากได้เรียนรู้เทคโนโลยีในการชำระเงินและนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น

   ขณะเดียวกัน ธปท.ได้พัฒนาเงินดิจิทัลของธนาคารกลางผ่านโครงการอินทนนท์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการชำระเงินเพิ่มขึ้น เพราะมีข้อจำกัดหลายอย่างน้อยกว่าการใช้เงินสด โดยที่ผ่านมา ได้เริ่มใช้เงินดิจิทัลในการชำระเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์และเริ่มธุรกรรมการชำระเงินข้ามประเทศกับธนาคารฮ่องกง รวมทั้งการใช้ชำระค่าพันธบัตร นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาระบบการใช้ชีวมิติ ต่างๆ เพื่อแสดงตัวตนในการทำธุรกรรมออนไลน์กับธนาคารพาณิชย์ โดยใช้การสแกนใบหน้า และประเด็นสุดท้ายที่ ธปท.ได้เริ่มดำเนินการคือ การให้บริการสินเชื่อโดยตรงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้โดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน หรือ Peer-to-Peer Lending Platform

    ขณะเดียวกัน ในระยะต่อไปเพื่อรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจที่จะใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้นของประเทศไทย ธปท.จะเร่งดำเนินการต่อเนื่องใน 5 ด้าน คือ 1.การนำมาตรฐานสากล ISO 20022 มาใช้รับ-ส่งข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน ทั้งการโอนเงินและชำระเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์ การซื้อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การใช้บัตรเครดิต/เดบิต และการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อให้มีช่องทางในการทำธุรกิจ และมีข้อมูลการทำธุรกิจบนโลกดิจิทัลที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมได้ 2.การสร้างข้อมูลทางเลือกในการขอสินเชื่อ หรือทำธุรกรรมการเงิน โดยใช้การตามรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ของแต่ละบุคคล เช่น การใช้จ่าย ชำระค่าบิลต่างๆ หรือการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ธนาคารหรือธุรกิจนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการทำธุรกิจ เช่น การประเมินสินเชื่อ 3.การสร้างดิจิทัลไอดี เพื่อการแสดงตัวตนของบุคคลแต่ละคนในโลกออนไลน์ หรือการใช้ชีวมิติต่างๆในการแสดงตัวตน ซึ่งในอนาคตอาจจะนำไปสู่บัตรประชาชนดิจิทัล โดยเชื่อมโยงให้สามารถใช้บริการได้มากกว่าบริการทางการเงิน โดยมีข้อมูลที่จำเป็นของเจ้าของไอดีในการรับบริการในหน่วยงานหรือสถานที่อื่นๆ ครบถ้วน โดยไม่ต้องพกบัตรมากมายเหมือนปัจจุบัน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น