วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

บิ๊กอ้อรองโฆษก ตร.เตือนภัยเงินกู้นอกระบบออนไลน์


 

เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยตลอดระยะเวลานานกว่า 1 ปีแล้วนั้นส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนหลายมาตรการอยู่โดยตลอด แต่อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ดังกล่าวยังคงส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินการทองของพี่น้องประชาชนในหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ ทำงานที่ได้รับเงินรายได้ค่าจ้างแบบรายวัน อาจจะได้รับผลกระทบมาก เป็นผลทำให้พี่น้องประชาชนบางส่วนที่เดือดร้อนเงินทองขาดมือไม่สามารถหยิบยืมญาติพี่น้องหรือคนรู้จักได้ทัน

อาจจะหันไปใช้วิธีการกู้เงินนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันนี้พบว่ามีมิจฉาชีพแฝงตัวมาในลักษณะปล่อยเงินกู้ผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้วิธีการเข้ามาขอเป็นเพื่อนผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือ ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ต่างๆ ประกาศเชิญชวนให้ใช้บริการเงินกู้ โดยอ้างว่าสามารถกู้เงินได้โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน หรือ กู้ได้แม้จะติดเครดิตบูโร แถมอนุมัติเงินกู้ได้ภายใน 5 นาทีบ้าง 10 นาทีบ้าง แต่มีข้อแม้ว่าผู้กู้จะต้องโอนเงินค่าธรรมเนียม เป็นเงิน 10% ของเงินที่จะขอกู้ก่อน หรืออาจอ้างว่าต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าดำเนินการ  ค่าประกันเงินกู้ ค่ามัดจำ ฯลฯ ตามแต่มิจฉาชีพจะกล่าวอ้างเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อแล้วโอนเงินดังกล่าวให้มิจฉาชีพ

 

ล่าสุดที่ปรากฎในสื่อฯ พบว่ามีสุภาพสตรีท่านหนึ่งหลงกลตกเป็นเป็นเหยื่อ โดยได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองชลบุรี โดยผู้เสียหายประสงค์ที่จะกู้เงินจำนวน 30,000 บาทเพื่อมาใช้หนี้เก่าที่ดอกเบี้ยแพงกว่าจึงตัดสินใจกู้เงินจากมิจฉาชีพที่รับแอดมาทางเฟซบุ๊กที่เสนอตัวให้กู้เงิน แต่จะต้องจ่ายค่าต่าง ๆ ประกอบด้วย ค่าสมัครสมาชิก ค่าดำเนินการ ค่ามัดจำงวดแรก ค่านายหน้า ค่าพนักงานเดินเรื่อง ค่ายืนยันว่าขอกู้จริง ค่าเครดิตกับค่าคอมมิชชั่นพนักงาน ค่าสิ้นสุดการกู้ ค่ารับยอดกู้ ค่าเปิดบัญชี ก่อนถึงจะได้เงินกู้ดังกล่าว

โดยโอนไปบัญชีโน้นบัญชีนี้รวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง เป็นเงินจำนวนเกือบ 6,000 บาทซึ่งเป็นเงินทุนก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ จากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อผู้อ้างว่าจะให้เงินกู้ได้อีก

ซึ่งในทางคดี รองโฆษก ตร. ได้ประสานไปยัง ผกก.สภ.เมืองชลบุรี ทราบว่าได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนและฝ่ายสืบสวนเร่งรัดตรวจสอบว่ากลุ่มคนร้ายรายนี้เป็นผู้ใด ซึ่งจะได้ติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงอยากจะเตือนภัยเงินกู้ที่มาในรูปแบบเงินกู้ออนไลน์ที่พบว่ามีการให้บริการมากมายในเวลานี้ โดยพบว่ามีทั้งสถานบันการเงินหรือธนาคารที่ถูกต้องทางกฎหมาย และมิจฉาชีพแฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ

รองโฆษก ตร. แนะนำว่าหากพี่น้องประชาชนมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินจริงๆ อยากจะให้ทำเรื่องขอกู้จากสถานบันการเงินที่ถูกต้องทางกฎหมายเป็นอันดับแรก ไม่ควรไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบเด็ดขาด โดยเฉพาะการกู้เงินในรูปแบบออนไลน์ เพราะอาจถูกหลอกลวงเหมือนกรณีข้างต้นได้

นอกจากนี้การกู้เงินนอกระบบผู้กู้อาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกขูดรีดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมถึงหากไม่สามารถใช้หนี้ได้ทันตามที่ตกลง อาจจะมีการทวงหนี้ในลักษณะผิดกฎหมาย เช่น มีการทวงหนี้ในเวลาที่กฎหมายห้าม หรือทวงหนี้ในลักษณะประจานทำให้ผู้กู้เกิดความอับอาย โดยอาจทวงหนี้ผ่านทางคนรู้จัก หรือส่งข้อความไปให้ญาติพี่น้องคนที่เรารู้จักว่าเราติดหนี้

 

ซึ่งในเรื่องเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่มีลักษณะผิดกฎหมายนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดตั้ง"ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.)" ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

โดยมุ่งมั่นที่จะสืบสวนปราบปรามจับกุมผู้มีอิทธิพล ผู้ปล่อยเงินกู้ที่มีลักษณะเรียกอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด รวมถึงการทวงหนี้ในลักษณะที่เป็นการผิดกฎหมาย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนที่หลงไปเป็นเหยื่อ หากมีข้อมูลเบาะแสสามารถติดต่อได้ที่ "ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชั้น 3 อาคาร 1 , กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ถนนสาทรเหนือ เขตบางรัก กทม. หรือโทรศัพท์สายด่วน 1599 หรือที่สถานีตำรวจทุกแห่ง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น